องค์การบริหารส่วนตำบลโคกหินแฮ่

   
 
Untitled Document
Untitled Document
 
 
 

 

ประวัติหมู่บ้าน
ประวัติหมู่บ้าน
 

ประวัติหมู่บ้าน

          ประวัติหมู่บ้านของแต่ละหมู่บ้านได้แบ่งออกเป็นเขตต่าง ๆ เพราะในเขตแต่ละเขตในอดีตนั้น เป็นหมู่บ้านเดียวกัน แต่ต่อมาหมู่บ้านมีขนาดใหญ่ และมีประชากรมากขึ้นจึงมีการแยกตัว และจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นมาใหม่เป็นหมู่บ้านต่าง ๆ ดังเช่นปัจจุบัน
ประวัติหมู่บ้านได้แบ่งเป็นเขตต่าง ๆ ดังนี้ เขตโคกหินแฮ่  เขตนาบัว  เขตนาโดน  เขตนาม่วง  และเขตหนองแซง

          1.  เขตโคกหินแฮ่
          เขตโคกหินแฮ่ ประกอบด้วยหมู่บ้านต่าง ๆ ดังนี้  บ้านโคกหินแฮ่หมู่ 1 บ้านต้องน้อยหมู่   2 บ้านโคกหินแฮ่หมู่ 9   บ้านโคกอนามัยหมู่ 11 โคกพัฒนาหมู่ 12

                บ้านโคกหินแฮ่ ราษฎรส่วนใหญ่เป็นคนผู้ไทยดั้งเดิม  อพยพมาจากประเทศลาว  จากเมืองวังอ่างคำ ประมาณปี พ.ศ. 2399 มาตั้งหมู่บ้านอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงไต้ของหมู่บ้านปัจจุบัน ห่างกันประมาณ  2  กิโลเมตร (บริเวณบ้านต้องน้อยหมู่ 2 ปัจจุบันและแถวบริเวณด้านทิศตะวันออกของบ้านต้องน้อย) เรียกว่าบ้านหนองหินแฮ่ ตามชื่อหนองน้ำที่อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน  ต่อมาเกิดโรคระบาด ราษฎรล้มตายเป็นจำนวนมาก จึงย้ายหมู่บ้านมาอยู่บริเวณป่าโคกหินแฮ่ เรียกว่าบ้านหนองโคกหินแฮ่  ต่อมาเห็นว่ามีชื่อยาวเกินไปจึงตัดหนองออกเป็น บ้านโคกหินแฮ่ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ด้านทิศตะวันตกของบ้านหนองหินแฮ่ยังมีราษฎรเหลืออยู่ส่วนหนึ่ง และได้ตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นเป็นบ้านต้องน้อยในปัจจุบัน โดยผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ ผู้ใหญ่นอคำ ชากิจดี และทางทิศตะวันออกของบ้านหนองหินแฮ ่ชาวบ้านได้อพยพย้ายออกหมดปัจจุบันจึงเรียกว่าบ้านฮ้าง(เป็นส่วนหนึ่งของบ้านต้องน้อยในปัจจุบัน)

          บ้านโคกหินแฮ่หมู่ 1 ต่อมาได้แยกออกเป็น 2 หมู่ คือ หมู่ 1 และ หมู่ 9  เมื่อบ้านโคกหินแฮ่เปลี่ยนเป็นตำบลโคกหินแฮ่  จึงได้แยกออกเป็น 4 หมู่บ้าน คือ    บ้านโคกหินแฮ่ หมู่ 1    บ้านโคกหินแฮ่หมู่ 9   บ้านโคกอนามัยหมู่ 11 (ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่ 11 คือนายยนต์คำ  สุขรี) และบ้านโคกพัฒนา หมู่ 12  ซึ่งเดิมคือ บ้านโคกหินแฮ่หมู่ 9 เนื่อง จากประชากรในหมู่ 9 เพิ่มจำนวนมากขึ้น และได้มีการขยายการปลูกสร้างบ้านเรือนมากขึ้นจึงทำให้หมู่บ้านมีขนาดใหญ่ขึ้น จึงได้มีการแยกหมู่บ้านออกมาใหม่ ซึ่งแบ่งเขตจากซอยตรงข้ามวัดไปทางทิศตะวันตก และให้มีการเลือกผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลปกครอง

          2.   เขตนาบัว
          เขตนาบัว ประกอบด้วยหมู่บ้านต่าง ๆ ดังนี้ บ้านนาบัวหมู่ 5  บ้านหนองกุงหมู่ 6  บ้านนาบัวหมู่ 13  บ้านนาบัวหมู่ 14

          บ้านนาบัว  ตั้งขึ้นเมื่อปี  พ.ศ. 2434  ประชากรได้อพยพมาจากบ้านโพนสาวเอ้  เป็นส่วนใหญ่ประมาณ  90 % และมาจากบ้านโนนสังข์  10 % ของประชากรที่ก่อตั้งหมู่บ้าน  โดยก่อตั้งครั้งแรกที่โนนหนองบัว  ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน  (หนองแวง ) โดยการนำของ   นายจันทร์สอน จิตมาตย์ ซึ่งมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันถึง 9 คน น้องคนที่ 2 มีบุตรมากถึง 10 คน เมื่อไม่มีที่ทำกินจึงได้พาน้องขี่ม้ามาหาจับจองที่ทำกินบริเวณหนองบัวในปัจจุบัน  ในเมื่อน้องๆ มีที่ทำกินอุดมสมบูรณ์แล้ว  ผู้เป็นพี่ชายคือ ปู่จันทร์สอนก็กลับไปอยู่ที่บ้านเดิม (บ้านโพนสาวเอ้) และให้น้องคนที่ 2 คือ ปู่ชินจักร จิตมาตย์ ก่อตั้งบ้านอยู่ที่หนองบัว   อีกปีต่อมาน้องทั้ง 6 คน ก็ติดตามมาอยู่ด้วย   จึงได้แบ่งปันที่ทำกินและที่อยู่อาศัยให้ และนอกจากนั้นยังมี   นายไกรบุตร ราชสินธ์  นางลุน  นางทุมมี  นางอ่อนสี  เป็นต้นได้ย้ายมาอยู่ด้วย  จนได้เป็นหมู่บ้านนาบัว ในปัจจุบัน

            ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2445  ได้ยกฐานะเป็นหมู่บ้านและได้มีการแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้น  เป็นคนแรก  คือ  นายจิตปัญญา  แสนมิตร  (นายเชียงมัง )  และสร้างวัด บัวขาวขึ้นในปี พ.ศ. 2445  โดยการนำของพระเทศ  นามพลแสน  งานหลักในการสร้างบ้านแปลงเมืองในขณะนั้น  คือ การพัฒนาที่ทำกินมากกว่าอย่างอื่น  เช่น  การเบิกถางที่นา  ทำสวน  เป็นต้น  ในปี พ.ศ. 2454  ผู้ใหญ่บ้านคนแรกได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา  จึงได้รับการแต่ตั้งผู้ใหญ่บ้านคนที่  2  คือ  นายวรรณทอง  นามพลแสน  ในขณะนั้นบ้านนาบัวมีทั้งหมด  30  ครอบครัว  แต่ขณะนั้นที่ตั้งหมู่บ้านถูกน้ำท่วม  จึงได้ย้ายที่ตั้งของหมู่บ้านใหม่  ซึ่งคือที่ตั้งของหมู่บ้านปัจจุบัน  ส่วนพี่น้องที่อยู่บ้านโพนสาวเอ้  และบ้านโนนสังข์ก็ได้ย้ายมาอยู่เพิ่มเรื่อย ๆ  ช่วงนี้ผู้ใหญ่วรรณทอง ได้เกษียณอายุราชการ  จึงได้แต่งตั้งผู้ใหญ่กรม  แสนมิตร  ขึ้นมาแทน  การสัญจรไปมากับส่วนราชการมีความยากลำบากมาก  เพราะไม่มีเส้นทางคมนาคมเหมือนในปัจจุบัน  ขณะนั้นบ้านนาบัวขึ้นต่อตำบลเรณูนคร เป็นหมู่ที่ 14 ของตำบลเรณู อำเภอธาตุพนม พาหนะในสมัยนั้นใช้เกวียนโดยใช้โคกระบือในการลาก  การเดินทางไปติดต่อกับตำบลหรืออำเภอ  คือ การเดินเท้า
ในระยะเวลานั้นชาวบ้านนาบัวได้ตั้งถิ่นฐานมั่นคงแล้ว   นายกรม  แสนมิตร  ผู้ใหญ่บ้านและผู้เฒ่าผู้แก่  คิดถึงบ้านพ่อเมืองแม่  จึงได้ปรึกษาหารือกันว่าอยากทำกองกฐินไปทอดที่บ้านเดิม  เมื่อเห็นพ้องต้องกันแล้วจึงตกลงสร้างถนนเพื่อเป็นทางไปทอดถวายกฐินที่บ้านโพนสาวเอ้  ในปี พ.ศ. 2473  ต่อมาประมาณปี  พ.ศ. 2493  ผู้ใหญ่กรม  แสนมิตร ได้เกษียณอายุราชการ  การเลือกตั้งกำนันผู้ใหญ่บ้านสมัยนั้นเป็นการเลือกตั้งแบบเปิดเผยโดยการใช้วิธีการยกมือ  เป็นการตัดสินแพ้ชนะ  ผู้ใหญ่บ้านคนที่ 4  ของบ้านนาบัวคือ  นายเกียรติ  นามพลแสน  ต่อมาในปีพ.ศ.2498  นายบุญทัน  จิตมาตย์ เป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 5   และบ้านนาบัวได้แยกออกเป็นบ้านหนองกุงและมีนายบัวลำ  ราชสินธ์  เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

            ในปี พ.ศ. 2500  มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง  ผู้นำรัฐบาลในสมัยนั้น  คือ  จอมพล สฤษดิ์  ธนะรัชต์  และฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลนำโดยนายภูมิ  ชัยบัณฑิต  เป็นผู้นำการเคลื่อนไหวครั้งแรกที่บ้านหนองกุง  มีการต่อสู้กันขึ้นที่เถียงนาพ่อสี  ราชสินธิ์  ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2504  ได้มีการจับกุมราษฎร์ในหมู่บ้าน  ในข้อหาอันธพาล  ได้นำไปขังลืมไว้ที่อำเภอธาตุพนม   จังหวัดนครพนม  จังหวัดอุดรธานี  และย้ายนักโทษไปขังไว้ที่เรือนจำนครบาล  กรุงเทพ ฯ  ครั้งสุดท้ายได้นำนักโทษไปขังไว้ที่เรือนจำราชบัวขาว  จังหวัดนครราชสีมา  ซึ่งมีราษฎรในหมู่บ้านนาบัวและหนองกุงถูกจับไปด้วย  9  คน  ในปี พ.ศ. 2507  ราษฎรที่ถูกจับในข้อหาอันธพาลก็ถูกปล่อยตัวพ้นจากการเป็นนักโทษกลับมาสู่ภูมิลำเนาของตัวเอง  ในเดือนกันยายน  พ.ศ.  2507    ราษฎรในหมู่บ้านถูกยิงตาย  1  คน คือ  นายคุณรม  ไชยราช ในเดือนพฤศจิกายน  พ.ศ 2507   นายภูมิมา   ราชสินธิ์  ผู้มีความขัดแย้งทางการเมืองกับรัฐบาล ซึ่งเป็นราษฎรบ้านหนองกุงถูกยิงเสียชีวิต  ในระยะนี้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐบาลรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทางรัฐบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ทหารและอาสาสมัคร  มาเคลื่อนไหวปราบปรามราษฎรที่มีความคิดขัดแย้งกับรัฐบาลในเขตบ้านนาบัวและบ้านใกล้เคียง  ราษฎรในพื้นที่บ้านนาบัวได้ทยอยกันเข้าป่า  เพื่อรวมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์มากขึ้น  ในระยะนั้นผู้ใหญ่บ้าน คือ  นายอัมลา  นามพลแสน  (คนที่ 6)   ในวันที่  7  สิงหาคม 2508  ทางการได้ส่งตำรวจทหารออดปราบปรามฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างหนัก  ในพื้นที่รอยต่อสามอำเภอ  คือ  อำเภอธาตุพนม  อำเภอเมือง  อำเภอนาแก  พื้นที่ระหว่างบ้านนาบัว  บ้านหนองฮี  บ้านดงอินำ ได้เกิดการปะทะขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  นานประมาณ  45  นาที  ปรากฏว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่เสียชีวิต  1  นาย  บาดเจ็บ  4  นาย    ฝ่ายสมาชิกคอมมิวนิสต์เสียชีวิต  1  นาย  คือ นายกองสิน  จิตมาตย์  ( สหายเสถียร )  ซึ่งเรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่า  “ วันเสียงปืนแตก ”  เหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นมีความเดือนร้อนเป็นอันมาก 
            ในปี พ.ศ. 2509  ทางราชการยิ่งปราบปรามมากยิ่งขึ้น  ผู้ใหญ่อัมลา  นามพลแสน  พร้อมกับราษฎรหลายคนในหมู่บ้าน  ถูกจับในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์  จึงได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่ขึ้นมาใหม่เป็นคนที่ 7  คือ  นายบุษบา  แสนมิตร   ทางการยิ่งเร่งการปราบปรามมากยิ่งขึ้น  สั่งให้ราษฎร์ทำรั้วรอบหมู่บ้านอย่างแน่นหนาด้วยหนาม  สั่งให้ชาวบ้านไปรายงานตัวก่อนออกไปทำไร่ทำนา  และช่วงกลับมาบ้านอย่างเคร่งครัด  ถ้าราษฎร์คนไหนฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างหนัก  เช่น  เตะ  ตี  และนำไปคุมขังที่ค่ายทหารบ้านหนองฮี  และส่งไปที่ค่ายทหารกองทัพภาคที่ 2  จังหวัดมุกดาหาร  ส่วนเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในหมู่บ้านที่เหลือต้องอยู่เวรยามภายในรั้วหนามของหมู่บ้าน  เมื่อทางราชการเร่งมือในการปราบปรามราษฎร  ราษฎรก็ยิ่งหลั่งไหลเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์มากยิ่งขึ้น   เรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2520  ทางกองทัพภาคที่ 2  มีนโยบาย  66/23   ราษฎรที่เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์เริ่มทยอยกลับเข้ามามอบตัวกับทางการเป็นระยะ ๆ และในสมัยนี้โดยการนำของผู้ใหญ่บุษบา แสนมิตร ได้เสนอโครงการไฟฟ้าชนบทชาวบ้านได้สมทบโครงการด้วยเสาไม้ และคอนสายไฟฟ้า หรือสมทบเงินครัวเรือนละประมาณ 170 บาท หมู่บ้านนาบัวจึงมีไฟฟ้าใช้เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2522   ในวันที่ 7 สิงหาคม 2522 ทางราชการได้จัดงานวันเสียงปืนดับขึ้นเป็นครั้งแรก มีการฝึก ทสปช. โดยพลโทเปรม ติณสูลานนท์ มาทำพิธีปิดการฝึกอบรม ใน ปี พ.ศ. 2522  นายไสว  แสนมิตร  ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านคนที่ 8 การต่อสู้ระหว่างทางราชการกับกองกำลังติดอาวุธพรรคคอมมิวนิสต์ แห่งประเทศไทยก็ลดลงมาเรื่อย ๆ
ปี พ.ศ. 2535  ได้แยกหมู่บ้านนาบัวเป็น 2 หมู่บ้าน  คือ  หมู่ที่  5 กับ หมู่ที่ 13 มี นายคำสิงห์   จิตมาตย์  เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 คนแรก และผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ยังคงเป็นนายไสว แสนมิตร  ใน ปีพ.ศ. 2537 บ้านนาบัวหมู่ที่ 13  แยกออกเป็นหมู่ที่ 14  อีกหนึ่งหมู่บ้าน  มี  นายท่อนแก้ว   ราชสินธ์  เป็นผู้ใหญ่บ้าน การต่อสู้กันของพรรคคอมมิวนิสต์กับทางการเริ่มสงบลง  ราษฎรที่ออกป่ากลับเข้าร่วมพัฒนาชาติไทยเกือบหมด  ที่เหลือก็คงตกค้างอยู่ที่ต่างประเทศ  เช่น  ประเทศลาว    และในปี  พ.ศ. 2537  นี้   นายไสว แสนมิตร  ก็เกษียณอายุราชการ    นายทิพจันทร์ แสนมิตร ได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 คนที่ 9     ในช่วงนี้รัฐบาลมีการพัฒนาประชาธิปไตยมากขึ้น  ราษฎร์มีสิทธิ์เสรีภาพมากขึ้น  ต่อมาใน ปี พ.ศ. 2542  ผู้ใหญ่ทิพจันทร์  ได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในตับ        นายลำสินธิ์  จิตมาตย์  ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 คนต่อมาเป็นคนที่  10     ปลายปี พ.ศ. 2543  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 นายคำสิงห์  จิตมาตย์   เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง  นายวีระชัย  จิตมาตย์  ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13 คนที่ 2    ต่อมาปี พ.ศ.2547  ผู้ใหญ่ลำสินธิ์ หมดวาระลง จึงมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านใหม่   ผู้ได้รับเลือกคือ นายสุระศักดิ์  จิตมาตย์  ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน ลำดับที่  11    ในปี พ.ศ. 2548 นายวีระชัย  จิตมาตย์  ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 13  ลาออกเพื่อร่วมทีมการเมืองท้องถิ่น จึงมีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่  ผู้ได้รับเลือกคือ นายสาคร  จิตมาตย์  เป็นผู้ใหญ่หมู่ที่ 13 คนปัจจุบัน

          สำหรับบ้านนาบัวหมู่ 14   เป็นราษฎรของบ้านนาบัวหมู่  5 และหมู่  13  ซึ่งได้รวมเงินกันเพื่อซื้อที่ดินของ  นายออนมณี   ราชสินธ์   ในราคา  5,500  บาท   โดยการนำของนายปราใส  นครเขต   ในปี  พ.ศ.2510  หลังจากซื้อแล้วได้ร่วมมือกันเพื่อวางผังบ้าน  โดยมีการแบ่งเป็นแปลง  แต่ละแปลงมีความกว้าง  8  เมตรและตัดถนนผ่านหมู่บ้าน และรอบบ้านอีก  ไม่นานนักในปี  พ.ศ.2517  ก็มีราษฎรของบ้านนาบัวหมู่  5  ออกมาตั้งบ้านเรือนในที่ดินแปลงนี้  โดยการนำของ  นายครสี   เหลื่อมเภา  , นายท่อนแก้ว   ราชสินธ์  ,  และนายสัมพันธ์  บัวชุม  ต่อจากนั้นก็มีเพื่อนบ้านออกมาตั้งบ้านเรือนทุกปี  ส่วนหนึ่งก็อยู่ตามหัวไร่ปลายนา      ในปีพ.ศ.2535 บ้านนาบัวหมู่ 5ได้แยกเป็น  2  หมู่บ้าน คือหมู่  5  และหมู่  13   ในสมัยนายคำสิงห์  จิตมาตย์  เป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13   โดยมี  นายท่อนแก้ว   ราชสินธ์  เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน นั้น ชาวบ้านได้ทยอยกันออกมาตั้งบ้านเรือนอยู่เรื่อยๆ  เนื่องจากชุมชนที่อยู่ใหม่นี้ห่างจากที่อยู่เดิม (หมู่  13 )  ประมาณ  1  กิโลเมตรเศษ  เมื่อมีการประชุมในเรื่องของส่วนราชการหรือการประสานงาน  มีความลำบากพอสมควรเพราะต้องเดินทางเข้าไปรับทราบ  ข่าวสารในส่วนของทางราชการ  ดังนั้นทางผู้นำจึงได้ปรึกษาหารือกัน  เพื่อขอแยกเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่ง   ซึ่งมีประมาณ  20  หลังคาเรือน  ทางอำเภอก็เห็นชอบให้แบ่งแยกหมู่บ้านจึงได้อนุมัติจัดตั้งหมู่บ้านนาบัว  หมู่  14  ขึ้น ในปี พ.ศ.2537

           


ทำเนียบผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5
คนที่ 1 นายจิตปัญญา  แสนมิตร  (นายเชียงมัง ) ประมาณปี พ.ศ.2445-2454
คนที่ 2 นายวรรณทอง  นามพลแสน                 ประมาณปี พ.ศ.2454
คนที่ 3 นายกรม  แสนมิตร                          ประมาณปี พ.ศ.24..-2493
คนที่ 4 นายเกียรติ  นามพลแสน                    ประมาณปี พ.ศ.2493-2498
คนที่ 5 นายบุญทัน  จิตมาตย์                       ประมาณปี พ.ศ.2498-2508
คนที่ 6 นายอัมลา  นามพลแสน            ประมาณปี พ.ศ.2508-2509
คนที่ 7 นายบุษบา  แสนมิตร                         ประมาณปี พ.ศ.2509-2522
คนที่ 8 นายไสว  แสนมิตร                           ประมาณปี พ.ศ.2522-2537
คนที่ 9 นายทิพจันทร์ แสนมิตร                      ประมาณปี  พ.ศ.2537-2542
คนที่ 10 นายลำสินธิ์  จิตมาตย์                       ประมาณปี  พ.ศ.2542-2547
คนที่ 11 นายสุระศักดิ์  จิตมาตย์                    ประมาณปี  พ.ศ.2547-ปัจจุบัน

ทำเนียบผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 6 แยกจากหมู่ที่ 5 ปี พ.ศ. 2498
คนที่ 1 นายบัวลำ  ราชสินธิ์                           ประมาณปี พ.ศ.2504-2531
คนที่ 2 นายสัญญา  ราชสินธ์                         ประมาณปี พ.ศ. 2531-2547
คนที่ 3 นายอุ่นสา  ราชสินธ์                          ประมาณปี  พ.ศ.2547-ปัจจุบัน

ทำเนียบผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 13 (แยกจากหมู่ที่ 5 ปี พ.ศ. 2535)
คนที่ 1 นายคำสิงห์  จิตมาตย์                        ประมาณปี พ.ศ.2535-2543
คนที่ 2 นายวีระชัย   จิตมาตย์                        ประมาณปี พ.ศ.2543-2548
คนที่ 3 นายสาคร  จิตมาตย์                          ประมาณปี พ.ศ.2548-ปัจจุบัน

ทำเนียบผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 14  (แยกจากหมู่ที่ 13 ปี พ.ศ. 2537)
คนที่ 1 นายท่อนแก้ว  ราชสินธิ์                       ประมาณปี พ.ศ.2537-2543
คนที่ 2 นายบุญคำ   จิตมาตย์                        ประมาณปี พ.ศ.2543-ปัจจุบัน

          3 . เขตนาโดนใหม่
          เขตนาโดนประกอบด้วยหมู่บ้านต่าง ๆ ดังนี้ บ้านนาโดนใหม่หมู่ 7  บ้านเนินน้ำคำหมู่ 10  บ้านชลประทานหมู่ 15

          บ้านนาโดนใหม่  เดิมราษฎรอาศัยอยู่ที่บ้านนาโดนเก่า  ตำบลเรณุใต้  อำเภอเรณูนคร  จังหวัดนครพนม  ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งปัจจุบันไปทางทิศใต้ประมาณ  1  กิโลเมตร  ต่อมาในปีพ.ศ 2452  ได้มีราษฎรกลุ่มหนึ่งย้ายครอบครัวมาอยู่หัวไร่ปลายนา  ประกอบกับในปีถัดมาได้เกิดอัคคีภัยขึ้นบริเวณใกล้วัดโพธิ์แก้ว  ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านนาโดนเก่า  ไฟไหม้บ้านเรือนเสียหายมาก  ผู้ที่ประสบภัยดังกล่าว  จึงได้อพยพครอบครัวมาตั้งบ้านเรือนใหม่  ตามพี่น้องซึ่งมาตั้งบ้านเรือนอยู่ก่อนแล้ว  เมื่อรวมตัวกันเข้าเป็นหลายครอบครัว  จึงได้ตั้งเป็นหมู่บ้านชื่อว่า “บ้านนาโดนใหม่” โดยอาศัยการตั้งชื่อ  จากหมู่บ้านเดิม และเปลี่ยนพยางค์ท้ายจาก “เก่า”  เป็น “ใหม่” 

                    บ้านนาโดนใหม่เดิมขึ้นกับตำบลเรณูนคร  อำเภอธาตุพนม  ต่อมามีการแบ่งเขตการปกครองใหม่จากตำบลเรณูนคร  มาเป็นอำเภอเรณูนคร  และตั้งบ้านโคกหินแฮ่เป็นตำบลโคกหินแฮ่  จึงได้ขึ้นกับตำบลโคกหินแฮ่  อำเภอเรณูนคร

                บ้านเนินน้ำคำ เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกันกับบ้านนาโดนใหม่   เมื่อปี พ.ศ. 2523 ซึ่งขณะนั้น   นายนิสงค์  นวลตา  ดำรงตำแหน่งกำนันตำบลโคกหินแฮ่   ได้ทำเรื่องเสนอไปยังกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอแบ่งการปกครอง เป็น 2 หมู่บ้าน   ในปีเดียวกันก็ได้รับอนุมัติให้แยกการปกครอง ออกเป็นหมู่ 10 ตั้งชื่อว่า  บ้านเนินน้ำคำ  และได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่ขึ้น โดยมีผู้ได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่และฝ่ายต่างๆคือ
1. นายขาน  ทินโน  เป็นผู้ใหญ่บ้าน
2. นายหน่อ  ถานัน เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านฝ่ายปกครอง
3. นางคำมั่น  ไชโย
4. นายอุส่าห์  วังตะพันธ์ ผู้ช่วยฝ่ายป้องกัน
5. นายหนูเพ็ชร มะโนสิน
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการสภาตำบล คือ  นายมอญไค  ธัมเม

          บ้านชลประทาน   เดิมชาวบ้านเป็นคนนาโดนใหม่ หมู่ 7,10 ได้ออกมาอยู่ตามที่นาของตัวเอง ทำอาชีพทำนา เลี้ยงสัตว์ อยู่ประจำที่ของตัวเองเถียงนาประมาณ 4 หลัง
ต่อมาชาวบ้านเรณูที่อยู่ตามไร่นา ก็ออกมาอยู่รวมกันอีกจำนวนหนึ่ง  แต่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้  ในปี พ.ศ.2528 ก็มีผู้แทนราษฎร คือ  นายไขแสง  สุกใส ให้การสนับสนุนในด้านไฟฟ้าเป็นจำนวนเงิน 60,000 บาท ชาวบ้านก็มีส่วนสมทบ 10,000 บาท ชาวบ้านก็เลยได้ใช้ไฟฟ้าตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ในปี พ.ศ.2538 ชาวบ้านนาโดน บ้านเนินน้ำคำ ชาวบ้านเรณูนครก็ย้ายเข้ามาอยู่ประมาณ 25 หลังคาเรือน ชาวบ้านก็ขอแยกการปกครองออกจากบ้านนาโดนใหม่ บ้านเนินน้ำคำ เพื่อมาตั้งหมู่บ้านใหม่เป็นบ้านชลประทาน หมู่ 15 ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2538 แต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรก คือ   นายสมชัย ถานัน   มีประชากรรวมทั้งหมด 135 คน เป็นชาย 74 คน หญิง 61 คน และทำหน้าที่ผู้ใหญ่บ้านอยู่ประมาณ 4 เดือน ก็เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลว
ต่อมา ในปี พ.ศ.2539 ก็ประกาศแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นมาใหม่ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 คือ   นายดุสิต  ถานัน  ซึ่งได้เป็นผู้ใหญ่บ้านโดยไม่ได้ลงคะแนน ผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน คือ นายวีระ  นวลตา ได้รับเลือกตั้ง ในปี พ.ศ.2549

          4.  เขตนาม่วง
          เขตนาม่วง ประกอบด้วยหมู่บ้านต่าง ๆ ดังนี้ บ้านนาม่วงทุ่งหมู่ 3 บ้านนาม่วงท่าหมู่ 4

          บ้านนาม่วงทุ่ง เมื่อประมาณปี พ.ศ.2463  ชาวบ้านพระซองและชาวบ้านบ่อดอกซ้อน เชื้อสายชาวไทยเผ่าย้อ  ได้อพยพมาทำไร่ทำนา ณ ที่แห่งนี้  เดิมบริเวณนั้นมีต้นมะม่วงไข่ขนาดใหญ่  จึงชื่อว่า บ้านนาม่วง  (ซึ่งปัจจุบันนี้ อยู่ในเขตพื้นที่บ้านนาม่วงท่าหมู่ 4 แต่ต้นมะม่วงได้โค่นล้มไป ในปีเดียวกันที่พระธาตุพนมองค์เดิมล้ม คือ ปี พ.ศ.2518 ) หลังจากนั้นชาวบ้านนาม่วงก็แยกหมู่บ้านขึ้นไปทางทิศเหนือ    มีการปกครองโดยนายขุนแสง   (นายที พรมจันทร์)  ขึ้นกับตำบลเรณูนคร  อำเภอธาตุพนม  ต่อมามีการแบ่งเขตการปกครองใหม่จากตำบลเรณูนคร  มาเป็นอำเภอเรณูนคร  และตั้งบ้านโคกหินแฮ่เป็นตำบลโคกหินแฮ่  ขึ้นกับอำเภอเรณูนคร   ชุมชนที่อยู่ทางทิศเหนือของบ้านนาม่วงจึงเป็นหมู่บ้านนาม่วงทุ่ง หมู่ที่ 3  ในตำบลโคกหินแฮ่

          ทำเนียบผู้ใหญ่บ้าน
          คนที่ 1 ขุนแสง  หรือ นายที  พรมจันทร์               ประมาณปี พ.ศ.2463-2483
          คนที่ 2 นายจวง พรมจันทร์                                 ประมาณปี พ.ศ.2483-2494
          คนที่ 3 นายจอมสี  สุนีกร                                    ประมาณปี พ.ศ.2494-2497
          คนที่ 4 นายบุญมี   พรมจันทร์                              ประมาณปี พ.ศ.2497 (3 เดือน)
          คนที่ 5 นายจอมสี  สุนีกร                                    ประมาณปี พ.ศ.2497-2500
          คนที่ 6 นายกาทอม  พ่อเกตุ                               ประมาณปี พ.ศ.2500-2514
          คนที่ 7 นายใส   พรมจันทร์                                  ประมาณปี พ.ศ.2514-2517
          คนที่ 8 นายศรีละคร  พรมจันทร์                     ประมาณปี พ.ศ.2517-2548
          คนที่ 9 นายประพันธ์  สีสุธรรม                       ประมาณปี 2548-ปัจจุบัน

                บ้านนาม่วงท่า เดิมบ้านนาม่วงท่ามีชื่อว่า “บ้านเหล่าขอนกอง” ต่อมามีการเผาศพบริเวณใกล้ต้นม่วงไข่  สังเกตเห็นต้นมะม่วงขนาดลำต้นใหญ่มาก  (ต้นเดียวกันกับที่อยู่ในประวัติบ้านนาม่วงทุ่ง)  และมีผลดก ชาวบ้านเชื่อว่าถ้าปีไหนฝนดีให้ดูปริมาณผลมะม่วง  ปีไหนผลดก ปีนั้นฝนจะดี น้ำท่าอุดมสมบูรณ์   ปีไหนมะม่วงให้ผลน้อย ฝนก็น้อยเช่นกัน   จึงตั้งชื่อหมู่บ้านเป็น  “บ้านนาม่วงท่า”  ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน


ทำเนียบผู้ใหญ่บ้าน
คนที่ 1  นายดำ  ศรีสุธธรรม                   
คนที่ 2  นายยนต์   สุนีกร                                 
คนที่ 3  นายขาน   แก้วมาลา                              
คนที่ 4  นายสมพร  พรมลัง                    

          5.  เขตหนองแซง
เขตหนองแซง ประกอบด้วยหมู่บ้านต่าง ๆ ดังนี้  บ้านหนองแซงหมู่ 8
บ้านหนองแซง  หมู่  8   แต่เดิมไม่มีบ้าน  มีชาวเรณูนครชาวบ้านโนนสังข์ ได้ออกมาอยู่ตามทุ่งไร่ทุ่งนาของตนเองอยู่ห่างกันประมาณ 400 – 500 เมตร ต่อมาในปี พ.ศ 2507  ทางอำเภอให้รวมกลุ่มกัน  ตั้งหมู่บ้านขึ้นเพราะว่ามีเหตุการณ์เกิดขึ้น คือมีการต่อต้านฝ่ายรัฐบาลจนมีการต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร   จนในปี พ.ศ 2508  ก็มีการขออนุญาตทางอำเภอและจังหวัดจัดตั้งหมู่บ้านขึ้น ก็ได้รับอนุญาตจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นในปี พ.ศ 2508  นั้นเอง    โดยตั้งชื่อว่า  บ้านหนองแซง  หมู่   8   และได้จัดหาผู้นำหมู่บ้านขึ้น คือ  นาย หนูเวิน  ครโสภา  เป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรกของหมู่บ้านหนองแซง ตั้งแต่ บัดนั้นมา


 
 
Untitled Document
อบต.โคกหินแฮ่

นายก อบต.


นายภักดี สุขรี
นายกองค์การบริหารส่วน
ตำบลโคกหินแฮ่

ร้องทุกข์กับนายกคลิกที่นี่

Link ที่น่าสนใจ

Untitled Document

นโยบายไม่รับของขวัญ (No Gift Policy)
งานบริการของศูนย์บริการร่วม/ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service : OSS)
การตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (IIT)

 
E-service
 
   
   
   
   
   
   
 
สถิติการให้บริการ
 
   
 
สำรวจความพึงพอใจ
 
   
   
 
 
บทความ
 
   
 
 
 




 

องค์การบริหารส่วนตำบลโคกหินแฮ่
เลขที่ 87 หมู่ 3 ตำบลโคกหินแฮ่ อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม 48170
โทรศัพท์ / โทรสาร : 0-4253-0831 Email : saraban@khokhinhae.com
khokhinhae@gmail.com
Facebook : อบต.โคกหินแฮ่ จังหวัดนครพนม